
ประแจหางหนู เป็นประแจที่หลายๆ คน คงจะไม่คุ้นหน้าคุ้นตา และไม่เคยได้ยินชื่อนี้กันมาก่อนแน่นอน แล้วประแจชนิดนี้มีความพิเศษอย่างไร นิยมใช้กับงานประเภทไหน และมีข้อควรระวังในการใช้งานอย่างไร ไขข้อสงสัยทั้งหมดนี้ได้ในบทความนี้
ประแจหางหนู มีหน้าตาเป็นอย่างไร
ประแจหางหนู มีการใช้งานเหมือนกับประแจทั่วไปในท้องตลาด ใช้สำหรับขันน๊อตในงานต่างๆ แต่มีจุดที่แตกต่างจากประแจทั่วไป คือ บริเวณด้ามจับของประแจ มีลักษณะเป็นรูปทรงโคนปลายมนซึ่งคล้ายกับหางของหนู โดยประแจหางหนูที่พบเห็นกันทั่วไปในท้องตลาด มีด้วยกัน 5 ชนิดดังนี้
- ประแจหางหนู ชนิดปากตาย
- ประแจหางหนู ชนิดประแจเลื่อน
- ประแจหางหนู ชนิดแหวน
- ประแจหางหนู ชนิดลูกบล็อค
- ประแจหางหนู ชนิดใช้งานร่วมกับลูกบล็อค
ประแจหางหนู ใช้กับงานอะไร
ประแจหางหนู เป็นประแจที่นิยมใช้ในงานก่อสร้างเป็นหลัก ตัวอย่างเช่น ใช้ในการประกอบนั่งร้าน, ใช้สำหรับขันแน่นยึดโครงสร้างเหล็กไอบีม (I-Beam) ในงานก่อสร้างอาคาร, ใช้ในการประกอบหน้าแปลนของท่อน้ำขนาดใหญ่ เป็นต้น โดยประแจหางหนูนิยมใช้งานร่วมกับหมุดเหล็กสำหรับล็อคตำแหน่งของรู (Board Head Bull Pin)
ด้ามจับของประแจหางหนู มีไว้ใช้ประโยชน์อะไร
เพื่อนๆ หลายคนเมื่ออ่านบทความมาถึงจุดนี้ก็คงจะมีข้อสงสัยกันใช่ไหมครับว่า ทำไมประแจหางหนูถึงด้ามจับไม่เหมือนประแจทั่วไป จริงๆ แล้ว ด้ามจับของประแจชนิดนี้มีไว้ใช้สำหรับจัดตำแหน่ง(Alignment) ของรูร้อยโบลท์ของวัตถุตั้งแต่ 2 ชิ้นขึ้นไป ให้อยู่ในตำแหน่งเดียวกัน ตัวอย่างเช่น เหล็กไอบีมถูกยกขึ้นด้วยเครน ในการจัดตำแหน่งของแท่งเหล็กไอบีมนั้นค่อนข้างจะทำได้ยาก เพราะเหล็กมีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก ซึ่งไม่สะดวกต่อการใช้มือในการเลื่อนปรับตำแหน่ง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้แท่งเหล็กเข้ามาช่วยในการจัดตำแหน่ง ซึ่งปลายด้ามจับของประแจหางหนูถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานในรูปแบบนี้โดยเฉพาะ เพียงแค่ร้อยด้ามจับของประแจหางหนูให้รอดผ่านรูของไอบีมและโครงสร้างที่ต้องการยึด หลังจากนั้นจึงร้อยโบลท์ในรูที่เหลือ เพื่อจับยึดเหล็กทั้งสองชิ้นเข้าด้วยกัน เป็นอันเสร็จ
ประแจหางหนู กับประแจนั่งร้านแตกต่างกันอย่างไร
ประแจหางหนู ต่างกับ ประแจขันนั่งร้านอย่างไร จริงๆ แล้วประแจหางหนูกับประแจขันนั่งร้านมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยในด้านของชื่อเรียก โดยส่วนใหญ่แล้วช่างที่อยู่หน้างานจะเรียกประแจขันนั่งร้านกัน เพราะว่าประแจชนิดนี้มีปลายแหลมมน เอาไว้ใช้ในการปรับตำแหน่งของรูร้อยโบลท์ของเหล็กสำหรับประกอบนั่งร้านทั้งสองชิ้นให้ตรงกัน ในส่วนของการใช้งานนั้น ทั้งประแจหางหนูและประแจขันนั่งร้านต่างมีการใช้งานที่เหมือนกันทั้งคู่เลยครับ
ข้อควรรู้ นายช่างส่วนใหญ่จะนิยมเลือกใช้ประแจหางหนูแบบลูกบล็อคหรือประแจขันนั่งร้านแบบลูกบล็อค เพราะใช้งานง่ายและสะดวกว่าการใช้ประแจหางหนูแบบปากตาย
เลือกประแจหางหนูอย่างไร เมื่อทราบขนาดของน๊อตแล้ว
ในการดูขนาดของหัวประแจของหนูนั้นสามารถทำได้โดยง่ายเลย คือ ให้สังเกตที่ตัวเลขใกล้ๆ กับหัวของประแจ จะเห็นได้ว่ามีตัวเลข ระบุอยู่ เช่น 17, 19 และอื่นๆ ซึ่งตัวเลขพวกนี้หมายถึงขนาดของหัวประแจที่สามารถขันน๊อตเบอร์นั่นๆ ได้ นั่นเอง ในบางกรณีเพื่อนๆ อาจจะเห็นประแจหางหนูมีหมายเลข 2 ชุด อยู่ในด้ามจับเดียวกันก็ได้ ตัวอย่างเช่น 17X19 หรือ 19/21 ซึ่งตัวเลขรูปแบบนี้หมายถึง ประแจหางหนูชนิดนี้ สามารถขันน๊อตได้ 2 ขนาด นั่นก็คือ 17 และ 19 หรือ 19 และ 21 ตามลำดับ โดยสังเกตุได้จากลักษณะของหัวประแจ จะมีลูกบล็อคสองข้างที่มีขนาดไม่เท่ากันนั้นเอง
ข้อควรระวังในการใช้งานประแจหางหนู
- ไม่ควรใช้ประแจหางหนูแทนค้อน เพราะอาจจะทำให้ประแจเกิดความเสียหายได้
(หมายเหตุ: ประแจหางหนูบางรุ่นถูกออกแบบมาให้สามารถใช้งานแทนค้อนได้ ทั้งนี้ควรศึกษาข้อมูลผลิตภัณฑ์ก่อนการใช้งาน) - เลือกใช้ขนาดของประแจให้เหมาะสมกับน๊อตที่ใช้งาน โดยปากของประแจต้องแน่นพอดีกับหัวน๊อต
จบไปแล้วนะครับสำหรับบทความ เจาะลึก 6 ข้อควรรู้ก่อนการใช้งานประแจหางหนู หวังว่าเพื่อนๆ จะได้รับความรู้ไม่มากก็น้อยจากบทความนี้ ประแจหางหนูถือเป็นอีกหนึ่งไอเดียในการทำ KAIZEN ที่ดี นั่นก็คือ การนำเครื่องมือ 2 ชนิด คือ ประแจและหมุดเหล็กสำหรับล็อคตำแหน่งของรู ที่ใช้งานร่วมกันในงานก่อสร้างมาผนวกเข้าด้วยกัน ทำให้สะดวกต่อการใช้งานมากยิ่งขึ้น เพื่อนๆ สามารถนำไอเดียนี้ไปประยุกต์ใช้ในงานออกแบบเครื่องมือต่างๆ ได้เช่นกันนะครับ